ปวดคอ
คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยมีอาการปวดคอ มักจะไม่ให้ความสำคัญแก่ส่วนคอมากนัก ทั้ง ๆ ที่ คอเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองไขสันหลัง เส้นประสาทต่าง ๆ ที่ออกจากสมอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง รวมทั้งทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักของกะโหลก และมันสมอง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่หนัก และสำคัญที่สุดของคนเรา นอกจากนั้นคอยังถูกกำหนดให้มีความยืดหยุ่น และสามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง
ปัจจุบันอาการปวดคอกำลังจะกลายเป็นโรคชนิดหนึ่ง เพราะความเครียดของกล้ามเนื้อคอนั้นอาจเกิดจากการนั่งก้มหน้าทำงานตลอดวัน การใช้สมองหรือใช้ความคิดมากเกินไป อาการที่หงุดหงิดอุบัติเหตุใหญ่น้อยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน การเล่นกีฬา เป็นต้น
เวลาที่เราใช้คอเกินความสามารถหรือผิดท่าจังหวะไป มักจะมีอาการหลายแบบ เช่น ปวดเมื่อยต้นคอ คอแข็งเอี้ยวไม่ได้ บางครั้งจะปวดบริเวณไหล่หรือบ่า ปวดร้าวไปที่ศีรษะ ต้นแขน ปลายแขน หรือแม้แต่ปวด และชาที่นิ้วมือได้ และบางครั้งเกิดอาการคลื่นไส้อาจเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุการปวดคอที่พบบ่อย ๆ เกิดจาก
1. อิริยาบถ หรือท่าที่ผิดสุขลักษณะในกิจวัตรประจำวัน เช่น ยืนหลังค่อม พุงยื่น การก้มหน้าก้มตาทำงานทั้งวัน
2. ความเครียดทางจิตใจ
3. คอเคล็ดหรือยอก
4. ภาวะข้อเสื่อม
5. การบาดเจ็บของกระดูกคอ เช่น จากอุบัติเหตุ ตกจากที่สูง ฯลฯ
6. ข้ออักเสบ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์
7. หมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท
การรักษา
1. สำหรับผู้ที่มีอาการปวดคอ หรือคอแข็งอย่างเฉียบพลัน อาจเกิดจากการเอี้ยวผิดท่า หรือหลังตื่นนอน อย่าพยาบามเคลื่อนไหวคอ ทางที่ดีควรหาโอกาสนอนราบชั่วคราว ประคบด้วยน้ำแข็ง หรือน้ำร้อนตรงบริเวณที่ปวด ถ้ายังไม่ทุเลาให้กินยาแก้ปวด
2. ผู้ที่ปวดคอเรื้อรัง อาการปวดมักไม่รุนแรง แต่ก็มักทำให้รำคาญ เช่น เวลาก้มหรือเงย ตะแคงหรือเอี้ยวคอจะทำได้ไม่เต็มที่ ปวด ภายหลังจากทำงานทั้งวัน หรือคอเคล็ดยอกบ่อย ๆ เวลาบิดผิดท่า ควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำอ่อน กินยาแก้ปวด และโดยการ นวดอย่างถูกวิธี
3. ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อคอ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นดีขึ้น
4. ถ้าหากอาการยังไม่ทุเลา ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องต่อไป
การปฏิบัติตนเพื่อป้องการการปวดคอ
1. ระวังอิริยาบถ แม้ขณะทำงานอย่าก้ม ๆ เงย ๆ มาก และนานเกินไป
2. ขณะทำงานควรหาเวลาหยุดพักเปลี่ยนอิริยาบถสัก 2-3 นาที ทุก ๆ ชั่วโมง
3. เก้าอี้ที่นั่งทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับรถ ควรเลือกเก้าอี้ที่พนักแข็งแรง และมีที่หนุนคอให้พอดี
4. เวลานอน ควรนอนบนที่นอนที่แข็ง ให้ศีรษะอยู่ระดับเดียวกับพื้น อย่านอนคว่ำอ่านหนังสือหรือดูทีวี
ข้อสำคัญที่สุด หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อของคอทุก ๆ วัน และพยายามลดความเครียดจากชีวิตประจำวัน โดยการออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ
การบริหารกล้ามเนื้อคอ มีความสำคัญมากในการรักษา และป้องกันการปวดคอเรื้อรัง
ก. การออกกำลังคอให้เคลื่อนไหวได้ดี แต่ละท่าทำ 5-10 ครั้ง วันละ 2-3 เวลา
1. ก้มและเงยหน้า ค่อย ๆ ก้มหน้าให้คางจรดกับอก แล้วเงยช้า ๆ ให้มากที่สุด
2. ตะแคงซ้ายขวา หน้าตรงค่อย ๆ ตะแคงซ้ายจนหูจรดไหล่ซ้าย แล้วตะแคงขวาในลักษณะเดียวกัน
3. หันหน้าซ้ายขวา หมุนศีรษะหันหน้าไปทางซ้ายช้า ๆ โดยให้ปลายคางอยู่ในแนวเดียวกับไหล่ แล้วหมุนกลับมาด้านขวา
ข. การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังคอชุดนี้ควรทำหลังจากทำชุด ก. แล้ว โดยใช้มือต้านการเคลื่อนไหวของศีรษะในทิศตรงกันข้าม เกร็งไว้ 5-10 วินาที แล้วพักแต่ละท่าทำ 5-10 ครั้ง วันละ 2-3 เวลา
1. ก้มคอ ใช้มือกดที่หน้าฝากต้านกับความพยายามที่จะก้มศีรษะลง
2. เงยหน้า เอาฝ่ามือประสานเหนือท้ายทอยกดมาด้านหน้า ขณะที่พยายามเงยศีรษะไปข้างหลัง
3. ตะแคงคอ ใช้มือซ้ายวางที่ศีรษะเหนือหูซ้าย ต้านกับความพยายามตะแคงหน้าให้หูซ้ายไปจรดไหล่ แล้วกลับมาใช้มือทำแบบ เดียวกัน
4. หันหน้า ใช้มือซ้ายออกแรงยันที่หน้าหูซ้าย ขณะที่พยามหันหน้าไปทางซ้าย แล้วสลับใช้มือขวาทำแบบเดียวกัน